ชาปลายนิ้ว เป็นอาการเหน็บชาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกบริเวณนิ้วมือ อาจทำให้นิ้วมือและมือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ เกิดขึ้นกับมือเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และในบางครั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างรู้สึกเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มตำที่ปลายนิ้ว หรือปวดแสบปวดร้อนที่ปลายนิ้ว โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงมือ หรือเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากสมองเพื่อควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของมือและนิ้วมือ
อาการชาปลายนิ้ว
- บริเวณปลายนิ้วมือไม่มีความรู้สึก เหน็บชา ไม่มีแรง
- รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มตำที่ปลายนิ้ว
- รู้สึกปวดหรือปวดแสบปวดร้อนที่ปลายนิ้ว
อาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการชาปลายนิ้ว ควรสังเกตลักษณะอาการที่เกิดขึ้นหรืออาการที่เกิดร่วมกับชาปลายนิ้ว แล้วไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาหากมีภาวะอาการ ดังต่อไปนี้
- อาการชาลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย หรือลามไปทั่วร่างกาย
- ชาปลายนิ้วเป็นเวลานานแล้วอาการไม่หายไป หรือมีอาการหนักขึ้น
- มีอาการชาปลายนิ้วบ่อยๆ แบบเป็นๆ หายๆ
- มีอาการชาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ชานิ้วเพียงนิ้วเดียว
- อาการเหล่านั้นรบกวนการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวร่างกาย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีอาการชาปลายนิ้วร่วมกับภาวะอาการป่วยที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายอื่นๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยร้ายแรงอย่างภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการอัมพาตได้ เช่น
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหัน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและกะทันหัน
- พูดจาติดขัด พูดไม่รู้เรื่อง มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร
- วิงเวียนศีรษะ สับสนมึนงง
สาเหตุของอาการชาปลายนิ้ว อาการชาปลายนิ้วเกิดจากเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงมือหรือเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากสมองเพื่อควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของมือและนิ้วมือถูกกดทับ ได้รับการกระทบกระเทือนหรือเกิดความเสียหาย หรืออาจเป็นเหตุมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะต่างๆ เช่น
- โรคการกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) เส้นประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณมือถูกกดทับหรืออุดตัน ทำให้เกิดอาการชาโดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง
- ภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท (Cervical Radiculopathy) เกิดจากเส้นประสาทบริเวณคออักเสบหรือถูกกดทับ จนทำให้เกิดอาการชาคล้ายกับโรคการกดทับเส้นประสาทข้อมือ
- การกดทับเส้นประสาทอัลนาร์ (Ulnar Nerve Entrapment) เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาทอัลนาร์ที่หล่อเลี้ยงควบคุมการทำงานของนิ้วนางและนิ้วก้อยทำให้เกิดอาการชาที่นิ้วดังกล่าว
- โรคเรย์นอด (Raynaud’s Disease) เป็นอาการป่วยที่หลอดเลือดแดงเล็กที่อยู่ในนิ้วเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงปลายนิ้ว จึงเกิดอาการชาและอาจกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตได้ด้วย
- โรคเบาหวาน (Diabetes) ภาวะอาการเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เส้นประสาทบริเวณมือและเท้า นำไปสู่อาการชาปลายนิ้วบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าได้
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบบวมและสร้างความเจ็บปวดบริเวณข้อต่อกระดูก ซึ่งทำให้เกิดอาการชา รู้สึกเหมือนเข็มตำ หรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณมือและนิ้วมือได้
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เส้นประสาทเสียหาย จนนำไปสู่อาการชาปลายนิ้วได้ เช่น
- โรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้ปลายประสาทเสื่อม
- โรคอะไมลอยโดสิส (Amyloidosis) เป็นโรคความผิดปกติของการสะสมโปรตีนอะไมลอยในร่างกาย
- มีซีสต์ที่ข้อมือ (Ganglion Cyst) ทำให้เส้นประสาทที่ข้อมือถูกดทับ
- กระดูกข้อมือ หรือกระดูกมือแตกหัก
- โรคจีบีเอส หรือกิลแลง บาร์เร ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome) ซึ่งทำให้เส้นประสาทหลายแห่งเกิดการอักเสบ เช่น มือ แขน หรือขา
- การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และกลุ่มอาการเอดส์ (AIDS)
- โรคเอ็มเอส หรือโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis)
- โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง
- โรคเรื้อน(Leprosy)
- โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน (Stroke)
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การทำเคมีบำบัด
- โรคปากแห้งตาแห้ง หรือกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome)
- ภาวะขาดวิตามิน B-12
- โรคไลม์ (Lyme Disease) ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากเห็บสุนัข
การวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้ว ในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น อาการนั้นเกิดมานานเพียงใด เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ รวมทั้งซักประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาและการใช้ยา จากนั้นแพทย์จะตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต และตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการชา เช่น นิ้วมือ มือ เท้า แขน และขา เพื่อตรวจการทำงานของระบบประสาท อย่างตรวจการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก
หากแพทย์มีข้อสงสัยอาจส่งตรวจด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย หรืออาจส่งต่อผู้ป่วยให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทโดยเฉพาะ โดยแพทย์อาจใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการชาปลายนิ้ว เช่น
- การฉายภาพเอกซเรย์ เช่น การฉายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณกระดูกนิ้วมือ มือ ข้อมือ แขน หัวไหล่ หรือกระดูกคอ ซึ่งกระดูกอาจหลุด เคลื่อนหรือแตกหัก ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจสัมพันธ์กับอาการชาปลายนิ้ว เนื่องจากกระดูกเหล่านั้นอาจไปกดทับสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาทได้ เช่นกัน
- การตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดนำตัวอย่างส่งตรวจในห้องปฏิบัติ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วที่อาจเกิดจากการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือภาวะขาดวิตามิน B12 หรือการติดเชื้อไวรัสต่างๆ เป็นต้น
การรักษาอาการชาปลายนิ้ว เมื่อมีอาการชาปลายนิ้วเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจรักษาบรรเทาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้น เช่น
- หยุดพักการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเจ็บ หรือมีอาการชา
- ปลดหรือคลายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรองเท้าที่สวมใส่อยู่ให้หลวมขึ้น
- ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ขยับนิ้วมือ แขนขา หลังจากนั่งหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานจนทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้ว
- ออกกำลังบริหารร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณนิ้วและแขนขา เช่น ยืดและกางนิ้วให้ตึง สะบัดแขน หมุนไหล่
- อาจใช้น้ำแข็งช่วยประคบบริเวณที่มีอาการอักเสบบวม
หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและสาเหตุที่มาของอาการชาปลายนิ้ว เช่น
- การใช้ยา แพทย์อาจจ่ายยาหรือแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดและยาต้านอาการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาเพื่อรักษาอาการอักเสบของเส้นประสาทที่ทำให้ชาปลายนิ้ว เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ
- การใส่เฝือก หรือใส่ผ้ารัดบริเวณข้อมือและข้อศอก เพื่อให้กระดูกบริเวณนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นการรักษาภาวะกระดูกกดทับเส้นประสาท
- การผ่าตัด แพทย์อาจทำการผ่าตัดเส้นประสาทถูกกดทับหรือได้รับความเสียหายในผู้ป่วยบางราย เช่น การผ่าตัดแก้ไขเส้นประสาทที่กดทับทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้วนางกับนิ้วก้อย การผ่าตัดแก้ไขเส้นประสาทอัลนาร์ การผ่าตัดนำกระดูก เนื้อเยื่อ หรือสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออก
นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาตามอาการและสาเหตุที่มาของอาการอย่างเหมาะสมเป็นรายกรณี
การป้องกันอาการชาปลายนิ้ว
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ รักษาสุขอนามัย และไปตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ
- ควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ และให้สารอาหารครบถ้วนเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่ทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้วอย่างวิตามิน B12 หรืออาจรับประทานอาหารเสริมต่างๆ หากมีภาวะขาดวิตามินและธาตุต่างๆ โดยควรใช้อาหารเสริมอย่างถูกต้องเหมาะสมภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์เสมอ
- หากต้องนั่งทำงานหรือกิจกรรมใดเป็นเวลานานๆ ให้อยู่ในท่าและตำแหน่งที่เหมาะสมเสมอ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการทำงานหรือการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
- ควรหยุดพักจากการทำงาน การอยู่ในท่าเดิม หรือการทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นระยะทุก 30 นาที - 1 ชั่วโมง
- ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณมือและข้อมือ เช่น ใช้หมอนรองข้อมือในขณะพิมพ์งานด้วยคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์
- ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ อย่างโยคะ หรือพิลาทิส เป็นต้น
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณกระดูกคอ เช่น ไม่ยกของหนัก ไม่เคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ ไม่นั่งหรืออยู่ในท่าที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
- หากกำลังเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัว ต้องเข้ารับการรักษา รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไปตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ
- งดดื่ม หรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป
- หากเกิดอาการชาปลายนิ้วที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรงหรืออาการที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการขับรถ หรือใช้บริการรถสาธารณะแทนการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง
- ปรึกษาแพทย์หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยใดๆ ที่เกิดขึ้น
*ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์ Website : https://www.pobpad.com/ชาปลายนิ้ว