โรคตาแห้ง

โรคตาแห้ง

ตาแห้ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำตาไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงหรือการหล่อลื่นดวงตา ซึ่งการที่น้ำตาไม่พอต่อการหล่อลื่นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตาแห้งอาจเกิดขึ้นหากน้ำตาผลิตออกมาไม่มากเพียงพอ หรือการผลิตน้ำตาที่ไม่มีคุณภาพออกมา

 

 

สาเหตุของตาแห้ง สามารถเกิดจากสิ่งที่เราเจอในทุกๆ วัน เช่น การอยู่ในที่แจ้งที่มีลมและแดดแรง การจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป หรือจากความเหนื่อยล้าและอาจมาจากการอยู่ในที่ที่มีการสูบบุหรี่ รวมไปถึงสาเหตุอื่นๆ  ดังต่อไปนี้

  • กระบวนการตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines)
  • เกิดจากโรคที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างน้ำตา เช่น โรคโจเกรน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคของหลอดเลือด (Collagen Vascular Diseases)
  • อาจเกิดปัญหาที่ทำให้เปลือกตาไม่สามารถปิดลงได้เป็นปกติ

 

อาการของตาแห้ง เมื่อตาแห้งก็จะทำให้รู้สึกไม่สบายตา มีอาการระคายเคืองหรือแสบตา ซึ่งอาจเกิดตาแห้งได้จากหลากหลายสถานการณ์ เช่น เมื่อโดยสารเครื่องบิน อยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ระหว่างขับขี่จักรยานยนต์ หรือหลังจากการมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

โดยปกติอาการตาแห้งมักเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการแสบ คัน ระคายเคือง หรือรู้สึกเสียดสีที่ดวงตา
  • เกิดเมือกเหนียวๆ บริเวณรอบดวงตา
  • สายตามีความไวต่อแสงมากกว่าปกติ
  • ตาแดง
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในดวงตา
  • ใส่คอนแทคเลนส์ได้ยากกว่าปกติ
  • ขับรถในเวลากลางคืนได้ยากขึ้น
  • ตาแฉะ
  • มองเห็นภาพเบลอหรือตาล้า

หากว่ามีสัญญาณหรืออาการของตาแห้งดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงตาแดง ระคายเคือง ตาล้าหรือเจ็บตา  ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์จะตรวจดูอาการหรือส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

 

รักษาตาแห้งอย่างไรให้ได้ผล ? โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีปัญหาตาแห้งแบบเป็นครั้งคราวหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม (Artificial Tears) ที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปได้ แต่ในรายที่มีอาการติดต่อกันยาวนานและมีความรุนแรง ต้องมองไปถึงสาเหตุ หรือจัดการกับสภาวะหรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของตาแห้ง รวมไปถึงการรักษาอื่นๆ ที่สามารถทำให้คุณภาพของน้ำตาดีขึ้นหรือการหยุดไม่ให้น้ำตาระบายออกอย่างรวดเร็ว

สำหรับในบางรายการรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุพื้นฐานของตาแห้ง สามารถช่วยกำจัดสัญญาณและอาการของตาแห้งได้ ตัวอย่างเช่น การรักษาด้วยยาที่เป็นสาเหตุทำให้ตาแห้ง แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นที่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือหากมีปัญหาที่เกี่ยวกับเปลือกตา เช่น ขอบของเปลือกตาม้วนเข้าด้านใน (Ectropion) แพทย์อาจส่งต่อให้ศัลยแพทย์ตาที่เชี่ยวชาญทางการผ่าตัดแก้ไขและฟื้นฟูโครงสร้างเปลือกตา หรือผู้ที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) แพทย์ก็จะส่งต่อไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรูมาตอยด์โดยเฉพาะ

ยาตามใบสั่งแพทย์ที่ใช้ในการรักษาตาแห้ง ได้แก่

  • ยาที่ใช้เพื่อลดการอักเสบที่เปลือกตา การอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาสามารถทำให้เกิดต่อมน้ำมันจากน้ำมันที่หลั่งออกมาและไปรวมกับน้ำตาได้ แพทย์อาจแนะนำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งยาปฏิชีวนะสำหรับตาแห้งส่วนใหญ่จะเป็นแบบยารับประทาน หรือบางคนจะใช้แบบยาหยอดตาหรือขี้ผึ้ง
  • ยาหยอดตาเพื่อควบคุมการอักเสบของกระจกตา  การอักเสบที่เกิดขึ้นที่กระจกตา อาจควบคุมได้ด้วยการใช้ยาหยอดตาตามใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งมีส่วนประกอบของยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือการใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ แต่ยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์นั้นจะไม่เหมาะกับการใช้ในระยะยาวเนื่องจากผลข้างเคียงของยา
  • ไฮดรอกซีโพรพิล เซลลูโลส (Hydroxypropyl Cellulose) หากมีอาการตาแห้งระดับปานกลางจนถึงรุนแรง และการใช้น้ำตาเทียมไม่สามารถช่วยได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ทางเลือกอื่นอย่างการใช้ที่แทรกตาหรือไฮดรอกซีโพรพิล เซลลูโลส (Hydroxypropyl Cellulose) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสีใสๆ ใช้วันละครั้ง โดยการแทรกเข้าไปที่ระหว่างดวงตากับเปลือกตาด้านล่าง  สิ่งนี้ก็จะละลายอย่างช้าๆ และปล่อยสารที่ใช้ในยาหยอดตาเพื่อหล่อลื่นดวงตา
  • ยากระตุ้นน้ำตา ยาที่ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำตาที่เรียกว่า คอลิเนจิก (Cholinergics) โดยกลุ่มยาชนิดนี้มีทั้งประเภทยาเม็ด แบบเจลหรือยาหยอดตา  แต่อาจมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหงื่อออก
  • ยาหยอดตาที่ทำจากเลือดของตัวเองหรือยาหยอดตาซีรั่ม ที่เรียกว่า Autologous Blood Serum Drops  เป็นอีกทางเลือก

       สำหรับผู้ที่ตาแห้งรุนแรงโดยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาชนิดอื่นๆ แต่ในกรณีนี้จะพบได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาอาการตาแห้ง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หรือการป้องกันตั้งแต่สาเหตุ ไม่ปล่อยเอาไว้จนเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยการสังเกตตัวเองว่าสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมใดที่ทำให้เกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ตัวอย่างง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น

  • เมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศแห้งมากๆ เช่น ในห้องแอร์หรือบนเครื่องบิน พยายามหลับตาพักสายตาบ่อยๆ  เพื่อลดการระเหยของน้ำตา
  • เมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้สายตาเป็นระยะเวลานานๆ ควรหมั่นพักสายตาบ่อยๆ โดยเฉพาะการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้พยายามกระพริบตาให้ถี่ขึ้นกว่าปกติ
  • หากต้องทำงานอยู่ในห้องแอร์นานๆ อาจใช้เครื่องทำความชื้นซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศให้กับห้องหรือสถานที่ที่มีอากาศแห้งมากๆ ได้
  • การสูบบุหรี่ เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตาแห้งให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สูบเองหรือผู้ที่ไม่ได้สูบ ก็ควรหลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่

 

*ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง #พบแพทย์   Website : https://www.pobpad.com/ตาแห้ง

 3113
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์